คุณเคยตรวจสอบปลาร้า หรือ น้ำปลาร้า ที่คุณซื้อมากินมั้ย ?
คุณรู้มั้ย ปลาร้าที่ดีและถูกสุขอนามัยมีลักษณะอย่างไร?
ปัจจุบันปลาร้าไม่ได้เป็นอาหารเฉพาะสำหรับชาวอีสานอีกต่อไป เพราะตอนนี้ได้ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นที่นิยมและชื่นชอบของชาวต่างชาติมาก รวมไปถึงคนในภูมิภาคอื่นของประเทศไทย จึงทำให้คนหันมาบริโภคกันมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการละเลยคุณภาพ เพื่อลดต้นทุน เคราะห์ร้ายจึงตกมาที่ผู้บริโภค!!
ทั้งนี้ได้มีการประกาศจากกระทวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ปลาร้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และตั้งมาตรฐานสำหรับการส่งออก ซึ่งมีรายละเอียดจะยกมาให้ทราบเฉพาะลักษณะที่ผู้บริโภคตรวจสอบได้ด้วยตัวเองก่อนซื้อ ซึ่งก็คือ คุณลักษณะทางกายภาพภายนอกที่ตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส และฉลากที่ต้องระบุข้อมูลให้ครบถ้วน ดังนี้
คุณลักษณะทางกายภาพ
(1) ลักษณะทั่วไป
– ส่วนประกอบต้องคลุกเคล้าให้เข้ากันพอดีไม่แห้ง แฉะ หรือเละเกินไปตามลักษณะเฉพาะ
– เนื้อปลาต้องนุ่ม สภาพผิวคงรูป หนังไม่ฉีกขาด
(2) สี
– มีสีปกติตามลักษณะเฉพาะ
– เนื้อปลามีสีชมพูอ่อนหรือสีอื่น เช่น สีเหลืองอ่อนสีส้มอ่อน สีน้ำตาลอ่อน
(3) กลิ่น
– มีกลิ่นหอมตามลักษณะเฉพาะ
– ไม่มีกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลี่นคาว กลิ่นอับ กลิ่นหืน กลิ่นสาบ กลิ่นเหม็นเปรี้ยว
(4) กลิ่นรส
– มีกลิ่นรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะ
– ไม่มีกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึงประสงค์เช่น กลิ่นรสเปรี้ยวบูด
ฉลากสำหรับปลาร้าขายปลีก
ให้แสดงฉลากบนภาชนะบรรจุทุกหน่วยตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อยต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดเป็นภาษาไทยให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน ไม่เป็นเท็จ หรือหลอกลวง ดังต่อไปนี้
- ชื่อสินค้าให้ใช้ชื่อ “ปลาร้า”
- ชนิดปลาที่ใช้เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาเบญจพรรณ
- ส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณและเรียงจากมากไปน้อย
- ชนิดของวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี)
- น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม
- วัน เดือน ปีที่ผลิต หรือวัน เดือน ปีที่หมดอายุหรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี)”
- คำแนะนำในการเก็บรักษาและการบริโภค เช่น ควรทำให้สุกก่อนบริโภค
- ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ และสามารถแสดงเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้
- ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น
นอกเหนือจากการเลือกซื้อตามประกาศของกระทรวงฯแล้ว การปรุงให้สะอาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยการนำมาปรุงผ่านความร้อนให้สุกทั่วกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลาร้า หรือน้ำปลาร้า ก่อนที่จะนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารเมนูต่าง ๆ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคได้อีกครั้งหนึ่ง ก็จะทำให้เราห่างไกลต่อโรคและรู้สึกมั่นใจว่าคุณไม่ได้รับประทาน ปลาร้าเถื่อน!!!