เชื่อแน่ว่าปลาร้า หรือน้ำปลาร้าเป็นของโปรดของใครหลาย ๆ คน เพราะสรรพคุณ และคุณค่าทางโภชนาการอันเปี่ยมล้น แต่ทุกอย่างล้วนมี 2 ด้าน ปลาร้าก็เช่นกัน หากบริโภคอย่างถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าบริโภคแบบผิด ๆ ก็อาจเกิดโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการบริโภคปลาร้ามาฝาก
- เลือกบริโภคปลาร้าที่ถูกสุขลักษณะ
ปัจจุบันมีปลาร้า และน้ำปลาร้าให้เลือกบริโภคมากมาย ทั้งปลาร้าที่ตักแบ่งขาย และปลาร้าบรรจุขวด เนื้อปลาร้าที่ดีนั้นต้องนุ่ม ไม่แข็ง หรือเปื่อยยุ่ย มีกลิ่นหอม มีรสเค็ม น้ำปลาร้าต้องมีสีน้ำตาลดำ ข้าวคั่วมีสีน้ำตาล ไม่เป็นสีดำคล้ำ และที่สำคัญต้องไม่มีไข่พยาธิ แมลงวัน หรือสิ่งสกปรกแปลกปลอมต่าง ๆ ผสมอยู่ ควรเลือกซื้อจากร้านที่คุ้นเคย หากเป็นปลาร้าบรรจุขวด บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ หรือฉีกขาด มีฉลากบอกรายละเอียดชัดเจน และมีเครื่องหมาย อย.
- ปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
แม้ที่ผ่านมาจะมีงานวิจัยว่าการเก็บปลาร้าในตู้เย็นเป็นเวลา 10-20 วัน พยาธิที่อยู่ในปลาจะตาย และสามารถรับประทานแบบดิบได้ แต่ก็ยังเกิดความเสี่ยงอยู่ดี เพราะอาจมีสารปนเปื้อนอื่น ๆ เช่น แบคทีเรีย และไนโตรซามีน หรือสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการใช้เคมีอย่างเกลือไนไตรท์หมักปลาร้า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย แนะนำว่าให้นำปลาร้า และน้ำปลาร้าไปต้มให้สุกเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำไปปรุงอาหาร จะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการรับประทานได้เต็มที่ เนื่องจากปลาร้า 100 กรัม มีโปรตีนมากถึง 15-20 กรัม รวมทั้งสารอาหารอื่น ๆ ได้แก่ ฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และ วิตามินเค ที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งสิ้น
- รับประทานร่วมกับผักหลากชนิด เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร
เมนูจากปลาร้า และน้ำปลาร้าหลากหลายเมนูต้องรับประทานร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผักมีสารแอนติออกซิแดนท์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยดูดซับโซเดียมในปลาร้า และช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ให้มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น เมนูปลาร้าจานผักที่แนะนำ เช่น ปลาร้าหลน ปลาร้าทรงเครื่อง แจ่วบอง ปลาร้าสับ ปลาร้าทอด เมนูเหล่านี้นอกจากจะอิ่มอร่อย มีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังเหมาะที่จะเป็นเมนูลดน้ำหนักด้วย เพราะมีสารอาหารครบถ้วน ไขมันต่ำ ใยอาหารในผัก ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ ไม่ต้องกลัวเรื่องท้องผูกเลยล่ะ
- นำไปแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ
อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าปัจจุบันนี้การรับประทานปลาร้า และน้ำปลาร้าเป็นที่นิยมมาก และมีการนำไปปรุงอาหารหลากหลายเมนู การนำไปแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ จะช่วยทำให้การบริโภคปลาร้าไม่จำเจ ไม่น่าเบื่อ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอร่อยให้กับมื้ออาหารนั้น ๆ อีกด้วย
- ไม่รับประทานมากเกินไป
ปลาร้า และน้ำปลาร้าถือเป็นของหมักดองอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะนำไปต้มให้สุกก่อนบริโภค แต่ก็เต็มไปด้วยโซเดียม ที่หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เราจึงไม่ควรบริโภคปลาร้าซ้ำ ๆ มาก ๆ แต่ควรเว้นช่วง หรือรับประทานแบบสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับอาหารประเภทอื่น เลือกรับประทานแบบหลากหลายเพื่อสุขภาพที่ดี แม้ว่าจะเลิฟๆ ปลาร้าสุดชีวิตก็ตาม
เพียงแค่ปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ เราก็สามารถรับประทานปลาร้า และน้ำปลาร้าได้อย่างปลอดภัยหายห่วงกันแล้ว เย็นนี้เลือกเมนูจากปลาร้าเมนูไหนกันดีนะ